หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ปรากฏการณ์ "ธเนศ วงศ์ยานนาวา"

 

Thu, 2014-04-24 09:27

อธิป จิตตฤกษ์

สัก 10 ปีทีแล้ว “ธเนศ วงศ์ยานนาวา” คงไม่ใช่ชื่อที่จะคุ้นหูใครนอกจากลูกศิษย์ลูกหาของธเนศในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ธเนศเป็นผู้บรรยายประจำอยู่มายาวนานและลูกศิษย์มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ธเนศได้ไปเป็นผู้บรรยายพิเศษ (เช่นมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยศิลปากร)

... และ “นักอ่าน” ทั่วไปคงแทบไม่เคยได้ยินชื่อของนักวิชาการนาม ธเนศ วงศ์ยานนาวา หรือกระทั่งคุ้นหูกับนามปากกา ธนา วงศ์ยานนาเวช ผู้เขียน "วิจารณ์" ภาพยนตร์ประจำสยามรัฐสัปดาวิจารณ์ (และมติชนสุดสัปดาห์ในเวลาต่อมา) ได้ชวน “ปวดกบาล” และไม่สู้จะเกี่ยวกับภาพยนตร์เท่าไรในมาตรฐานงานวิจารณ์ภาพยนตร์ทั่วไปในสังคมไทย

ดังนั้นเมื่อ 10 ปีก่อนเวลากล่าวถึงนักวิชาการชื่อ “ธเนศ” สาธารณชนดูจะนึกถึงนักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์สังคมรุ่นใหญ่ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อเมริกันอย่าง ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ หรือนักวิชาการล้านนาอย่าง ธเนศวร์ เจริญเมือง มากกว่า เพราะอย่างน้อยๆ นักวิชาการสองท่านนี้ก็มีข้อเขียนสื่อสารกับสาธารณชนมากกว่า “นักอะไรก็ไม่รู้” อย่าง “ธเนศ วงศ์ยานนาวา”

ก่อนปี พ.ศ. 2550 หนังสือของธเนศ วงศ์ยานนาวา มีตีพิมพ์ขายในท้องตลาดเพียงแค่ชิ้นเดียวคือ  เช เกวารา กับความตาย ในปี 2541 [1] ใครอยากอ่านงานของธเนศถ้าจะไม่ไปตามหาต้นฉบับบทความฉบับสำเนาอ่าน (ราวกับอยู่ในศตวรรษที่ 16-17 ที่ปัญญาชนไม่นิยมพิมพ์หนังสือแต่จะให้มิตรสหายเวียนกันอ่านต้นฉบับลายมือ) ก็ต้องไปไล่ตามอ่านบทความเชิงวิชาการของธเนศที่กระจัดกระจายอยู่ตามวารสารวิชาการฉบับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน รัฐศาสตร์สาร ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วารสารสังคมศาสตร์ ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [2]

แม้ว่าธเนศจะไม่มีตัวตนในโลกสาธารณะของนักอ่านทั่วไป แต่ในโลกวิชาการ ธเนศในวัย 20 กลางๆ  ดูจะเปิดตัวด้วยบทความวิชาการแรกด้วยบทความเกี่ยวกับกระแสความคิด “ประวัติศาสตร์นิยม” และนักคิดอิตาเลี่ยนที่วงวิชาการไทยในตอนนั้น (หรือกระทั่งตอนนี้) ไม่คุ้นหูนักอย่าง Benedetto Croce มาในปี 2526 [3] ก่อนจะมาออกบทความ 4 ชิ้นเกี่ยวกับนักคิดฝรั่งเศสที่โด่งดังเป็นพลุแตกเรียบร้อยแล้วในอเมริกาแต่นักวิชาการไทยตอนนั้นก็ไม่ค่อยรู้จักอย่าง Michel Foucault ในช่วงตั้งแต่ปี 2528-2531 [4] ก่อนจะหายไปร่ำเรียนต่อ และกลับมาผลิตงานอีกทีใน 2537

ช่วงตั้งแต่ปี 2537-2550 ธเนศมีบทความตีพิมพ์ลงในวารสารและหนังสือวิชาการเฉลี่ยปีละราว 2-3 บทความมาโดยตลอด ซึ่งเนื้อหาก็มีสารพัดและคาบเกี่ยวกันไปมาดังสมญาที่ธเนศได้มาภายหลังว่า “มนุษย์ที่จัดประเภทไม่ได้” เพราะงานของธเนศมีเนื้อหาตั้งแต่ปรัชญาประวัติศาสตร์ [5] สุนทรียศาสตร์ [6] ทฤษฎีความรู้ [7] ทฤษฎีการเมือง [8] ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา [9] ประวัติศาสตร์เพศ [10] ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม [11] วัฒนธรรมอาหาร [12] ยันงานที่พูดถึงวัฒนธรรมของวัฒนธรรม [13] ซึ่งก็ยังไม่ต้องนับงานที่จัดประเภทได้ยากอาทิ "มนุษย์โรแมนติคกับการบริโภคภาพเสรี" [14] ที่คาบเกี่ยวระหว่างสุนทรียศาสตร์และทฤษฎีการเมืองไปจนถึง “งานในตำนาน” อย่าง “ภาพตัวแทนของตูด” [15] ที่ดูจะต่อต้านการจัดประเภทงานวิชาการตามปกติในสังคมไทยโดยสิ้นเชิง

งานอันมหาศาลของธเนศนี้สร้างชื่อเสียงให้กับธเนศในวงวิชาการเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้สาธารณชนนอกโลกวิชาการรู้จักธเนศแต่อย่างใด อย่างไรความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปี 2550 อันเป็นปีที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้ตีพิมพ์หนังสือ ปฏิวัติบริโภค: จากสิ่งของฟุ่มเฟือยมาสู่สิ่งจำเป็น [16] ที่ในตอนแรกเป็นเอกสารประกอบปาฐกถายาวเฟื้อยของธเนศในงานประชุมประจำปีของทางศูนย์มานุษยฯ ออกมาขายในท้องตลาด และขายหมดเกลี้ยงในที่สุด

หลังจากนั้นก็เริ่มมีการตีพิมพ์งานของธเนศมาสารพัดรูปแบบตั้งแต่การรวมบทความเก่าๆ พร้อมเพิ่มบทนำใหม่[17] ไปจนถึงการตีพิมพ์รวมบทความนำเสนอหรืองานวิจัยที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อนออกมาเป็นหนังสือเล่ม[18] ไปจนถึงการรวมบทความที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ [19] ไปจนการรวมเอาทั้งงานวิชาการและงานตามหน้าหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์มารวมกันพร้อมเพิ่มบทนำ [20]

ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบันนี้มีการตีพิมพ์หนังสือของธเนศออกมารวม 13 เล่ม ซึ่งถ้านับแค่ช่วงเวลานี้นี้ น่าจะเรียกได้ว่าธเนศเป็นนักวิชาการที่มีหนังสือออกมากกว่าปีละเล่มด้วยซ้ำ และถ้านับรวมการพิมพ์ซ้ำของหนังสือขายดีอย่างเพศ: จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ ว่าเป็นหนังสือที่ธเนศออกมาอีกเล่มแล้ว ปี 2550-2556 ธเนศมีการออกหนังสือมาในท้องตลาดหนังสือในโลกภาษาไทยถึงปีละ 2 เล่มด้วยกัน

ประเด็นของงานธเนศที่ออกมาสู่ท้องตลาดนั้นหลากหลายดังเช่นงานของธเนศในยุคที่เขียนบทความวิชาการลงในวารสาร กล่าวคือมีตั้งแต่ปรัชญาการเมือง ศิลปะ เพศ ดนตรี ไปจนถึงงานเกียวกับทฤษฎีสังคมวัฒนธรรม

ซึ่งงานของธเนศทั้งหมดก็ไม่ใช่งานที่มีเนื้อหาอันจะอ่านกันรู้เรื่องได้ง่ายๆ ดังนั้นมันก็จึงมีคำถามกันว่า "ทำไมอยู่ดีๆ เหล่างานเขียนอันชวนอันปวดกบาลเหล่านี้จึงมาได้รับความนิยม?" กล่าวคือทำไมถึงเกิด “ปรากฎการณ์ธเนศ” ขึ้น?

กระแสการตื่นตัวทางการเมืองของสาธารณชนไทยดูจะไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก เพราะถึงความนิยมของงานธเนศจะปรากฎหลังรัฐประหาร 2549 อันเป็นยุคทองของการออกข้อเขียนเกี่ยวกับการเมืองไทยของนักวิชาการทุกขั้วการเมือง (หรือกระทั่งผู้ที่วางตนเป็นกลาง) แต่งานของธเนศทั้งหมดก็ดูจะเป็นงานวิชาการในท้องตลาดหนังสือไทยที่ห่างไกล “การเมืองไทย” ที่สุดแล้ว เพราะอย่าว่าแต่งานของธเนศจะไม่พูดถึงการเมืองไทยเลย การพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดและเคยเกิดในพื้นที่ๆ ปัจจุบันเรียกว่าประเทศไทยก็แทบจะไม่เคยมีปรากฏในงานธเนศที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มเลย

กระแสของการเอานักวิชาการน้อยใหญ่ไปออกสื่อที่ต่อเนื่องและขยายตัวจนถึงทุกวันนี้จนทำให้ “นักวิชาการ” ไม่น้อยแจ้งเกิดในสายตาของสาธารณชนในฐานะนักวิชาการผู้ทรงภูมิความรู้ในประเด็นต่างๆ (แม้ชีวิตประจำวันของท่านๆ เหล่านั้นบางท่านอาจจะไม่ได้ทำการค้นคว้าวิจัยเขียนงานใดๆ ที่น่าจะเข้าข่ายงานวิชาการก็ตาม) ก็ดูจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับชื่อเสียงของธเนศ เพราะธเนศน่าจะเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ไม่เคยออกรายการโทรทัศน์เลยแม้แต่ครั้งเดียว และก็ไม่ใช่นักวิชาการที่สื่อโทรทัศน์จะเคยไปสัมภาษณ์ในฐานะ "ผู้เชี่ยวชาญ" เพื่อประกอบข่าวเลยแม้แต่ครั้งเดียวเช่นกัน [21]

การขยายตัวของการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บเครือข่ายสังคมก็ดูจะไม่ใช่คำอธิบายที่ดีนักในการอธิบายความ "ป๊อป" ของธเนศ เพราะธเนศก็ไม่ใช่นักวิชาการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสาธารณชนบ่อยๆ ทางเฟซบุ๊คอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ที่โด่งดังได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการตีพิมพ์หนังสือในท้องตลาดโดยสำนักพิมพ์ แต่ “ตีพิมพ์” ความคิดของตนออนไลน์แทน – ซึ่งก็เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจเช่นกัน) อย่างน้อยๆ ปรากฏการณ์ "ถาม-ตอบปัญหากับ ธเนศ" ในกลุ่มเฟซบุ๊คก็ดูจะเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2556 [22]

คำตอบของความฮิตของงานธเนศ ในทรรศนะของผู้เขียนดูจะเป็นการที่งานของธเนศนั้นได้ตอบโจทย์ของ "ตลาดนักอ่านที่มองไม่เห็น" ที่มีมาตลอดในไทย กล่าวง่ายๆ คือ มีความต้องการอ่านงานต่างๆ ในประเด็นที่ธเนศเขียนนั้นมีอยู่แล้วในไทย เพียงแต่ไม่มีใครเขียนมันออกมา หรือตีพิมพ์มันออกมาเท่านั้น

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งนักอ่านเหล่านี้เป็นนักอ่านหนังสือประเทืองปัญญาทั่วไป แต่ก็ยากจะปฏิเสธได้ว่านักอ่านงานของธเนศจำนวนมากก็คือลูกศิษย์ลูกหาของธเนศที่เป็นผลผลิตจากการสอนหนังสือของธเนศในแบบที่ไม่เหมือนใครมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 นั่นเอง (ซึ่งลูกศิษย์ของธเนศจำนวนไม่น้อยก็ไปมีลูกศิษย์ของตนอีกที) และนั่นดูจะเป็น "ฐานผู้อ่าน" ที่เข้มแข็งของธเนศอันทำให้มีการตีพิมพ์งานวิชาการและกึ่งวิชาการธเนศสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ทำให้สำนักพิมพ์ “เจ๊ง” ไปเสียก่อน

สิ่งที่ตลกคือ ถ้าปี 2550 เป็นจุดเริ่มของความฮิตของธเนศปีนั้นก็ดูจะเป็นปีที่ธเนศเริ่มลดอัตราการผลิตบทความทางวิชาการอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะช่วงปี 2550-2552 งานวิชาการของธเนศก็มีตีพิมพ์ในวารสารวิชาการราวๆ ปีละ 1 ชิ้นเท่านั้น และช่วงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาธเนศก็แทบจะไม่มีบทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเลย และงานของธเนศที่พิมพ์ๆ กันออกมาอย่างต่อเนื่องนั้นในส่วนงานวิชาการก็ดูจะเป็นการนำงานที่ธเนศเขียนสั่งสมมาเป็นสิบปีมารวมเป็นหนังสือไม่น้อย

ซึ่งสิ่งที่น่าทึ่งไม่น้อยคืองานเก่าๆ ของธเนศก็ยังสามารถถูกอ่านทุกวันนี้ได้อย่างร่วมสมัยอยู่ โดยมันก็ถูกรวมเข้ากับบทความที่เขียนในช่วงเวลาต่างๆ กันในเวลาราว 20 ปีได้อย่างไม่ขัดเขิน

และสุดท้ายสิ่งที่น่าทึ่งที่สุดก็อาจจะเป็นการที่ทั้งๆ ที่งานของธเนศถูกตีพิมพ์มาปีละ 2 เล่มติดต่อกันมาเป็นเวลา 7 ปี แต่งานทางวิชาการของธเนศอีกกว่าครึ่งก็นับว่ายังไม่ได้ถูก "รวมเล่ม" เป็นหนังสือของธเนศด้วยซ้ำ

เพราะอย่างน้อยๆ บทความในตำนานของธเนศอย่าง "ภาพตัวแทนของตูด" ก็ไม่ใช่บทความที่จะหาอ่านได้ง่ายๆ สำหรับนักอ่านทั่วไป และบทความที่ถูกเขียนมาภายใต้ทักษะความชำนาญอันเอกอุที่สุดประการหนึ่งของธเนศอย่างเรื่อง "อาหาร" ก็ยังไม่มีการถูกตีพิมพ์รวมเล่มมาเช่นกัน

สุดท้าย ที่น่าสนใจที่สุด บทความประเภทที่ธเนศเขียนออกมามากที่สุดอย่างทฤษฎีการเมืองนั้นก็ดูจะไม่ได้ถูกสำนักพิมพ์ในเชิงพาณิชย์ตีพิมพ์รวมเล่มออกมาแม้แต่เล่มเดียวทั้งๆ ที่ถ้าเอาบทความจำพวกนี้มารวมกันมันก็ไม่น่าจะออกมาเป็นหนังสือขนาดย่อมๆ ได้ต่ำกว่า 3 เล่ม

เหตุผลที่น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่สุดที่ “ไม่มีใครพิมพ์” งานด้านทฤษฎีการเมืองก็คงจะเป็นเพราะงานเหล่านี้ดูยากจะไปได้ในท้องตลาดไทย เพราะแม้ในไทยจะมีกลุ่มนักอ่านผู้สนใจ “การเมือง” อย่างเข้มข้น แต่กลุ่มนักอ่านเหล่านี้ผู้คนไม่ว่าจะมาจากขั้วการเมืองไหนหรือไม่มีขั้วก็ดูจะสนใจปรากฎการณ์ที่จับต้องได้ของ “การเมืองไทย” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมากกว่าที่จะสนใจข้อถกเถียงเกี่ยวกับหลักการทางการเมืองทั่วๆ ไปในโลกที่มีลักษณะเป็นนามธรรมกว่า

เพราะอย่างน้อยๆ ในโลกของนักอ่านหนังสือ “การเมือง” ในโลกของภาษาไทยก็คงจะสนใจคำถามจำพวก “ใครคือฆาตกรตัวจริง?” “ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริง?” ไปจนถึงความรู้จำพวก “รู้ทัน” ค้นโน้นคนนี้ มากกว่าที่จะสนใจจริงจังกับคำถามว่า “ความชอบธรรมคืออะไร?” “อะไรคือ Rationality?”  หรือกระทั่งประเด็นคลาสสิคของทฤษฎีร่วมสมัยอย่างความย้อนแย้งภายในของระบอบเสรีประชาธิปไตย

และสิ่งที่ดูจะตลกร้ายที่สุดก็คือ คนที่มักจะเขียนถึง “ความไร้สาระ” ของการเมืองออกมาบ่อยๆ (ในแง่ของการวนไปวนมาของปรากฎการณ์เก่าๆ ในคราบสิ่งใหม่ๆ) อย่างธเนศก็ดูจะขบคิดและเขียนถึงประเด็นเหล่านี้มามากกว่าเหล่าผู้ “จริงจัง” กับการเมืองจำนวนมาก

สุดท้าย นี่ก็ดูจะเป็นคำอธิบายบางประการที่ทำให้ “ข้อเขียนทางการเมือง” ของธเนศ ไม่ได้รับความนิยมอยู่ เพราะ ข้อเขียนทางการเมืองของธเนศนั้นดูจะเป็นข้อเขียนที่ไม่ได้ให้ความหวังและไม่ได้ให้ทางออกทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นแบบที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ เพราะอย่างเต็มที่ธเนศก็ดูจะชี้ให้เห็นว่าการทำอะไรจะมีผลตามมาอย่างไร (บนฐานของประวัติศาสตร์และทฤษฎี) ธเนศดูจะชอบชี้ว่าทุกๆ ทางเลือกก็มีข้อดีข้อเสียของมันทั้งสิ้นและ “คุณต้องเลือกเอง” มากกว่าที่จะเป็น “ศาสดา” ที่พร่ำบอกสาวกว่าควรจะทำอย่างไรดีในสถานการณ์หนึ่งๆ

แต่นั่นก็ดูจะเป็นไปอย่างถูกต้องตาม “อาชีพทางวิชาการ” ตามแบบ Max Weber แล้ว แต่ปัญหาคือสังคมจำนวนไม่น้อยก็ดูจะใช้งานนักวิชาการในฐานะศาสดาประกาศกทางการเมืองมากกว่า และสังคมไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นเวอร์ชั่นย่อในวารสาร Bookmoby Review ฉบับแรก บทความเวอร์ชั่นปัจจุบันที่ท่านอ่านอยู่นี้เป็นฉบับเต็มที่เพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปอีกที

อ้างอิง

  1. ธเนศ วงศ์ยานนาวา, เช เกวารา กับความตาย, (ปทุมธานี: นาคา, 2541)
  2. ดู บรรณานุกรมบางส่วนได้ที่ wikipedia
  3. ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "Historicism หลังเฮเกล รันเก และโครเช่" ใน รัฐศาสตร์สาร 9, 3 (ก.ย.-ธ.ค.26), pp. 1-36
  4. ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "อ่านงานฟูโก้" ใน วารสารธรรมศาสตร์ 14, 3 (ก.ย. 2528), pp. 36-57; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "มิเชล ฟูโกต์: ปัญญาชน ความจริงและอำนาจ" ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 5 ฉบับที่ 1-2 (ต.ค. 28-มี.ค. 29), pp. 142-154; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "บทส่งท้าย ตรรกะของการกดบังคับ ฟูโก้และเฟมินิส" ใน รัฐศาสตร์สาร 12, 13 (เม.ย.29-30), pp. 166-178; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "มิเชล ฟูโก้และอนุรักษ์นิยมใหม่" ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 6,3-4 (ต.ค.31), pp. 16-37
  5. เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "ประวัติศาสตร์นิยม: จากวิโก้สู่กรัมชี่" ใน รัฐศาสตร์สาร 20, 3 (2541) 35-100
  6. เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง : จากสภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่" ใน รัฐศาสตร์สาร 29, ฉบับพิเศษ (2551) 203-274
  7. เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "กรุณาอย่ามีทฤษฎีที่เป็นนามธรรม: เราเป็นชาวอังกฤษ", สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 17,1 (ก.ค.-ธ.ค.37) , 15-24; ธเนศ วงศ์ยานนาวา "ภาพตัวแทน แทนสิ่งที่แทนไม่ได้" ใน จุลสารไทยคดีศึกษา 12, 1 (ส.ค.-ต.ค. 2538) 16-18; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "ความรัก/ความรู้/ความตาย : เมื่ออาทิตย์เริ่มอัสดง" ใน วารสารสังคมศาสตร์ 30,2 (พ.ค. 2539) 1-25; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, " "ผีของมาร์กซ์" และ "ผีในมาร์กซ์" ข้อวิจารณ์ประวัติศาสตร์นิยมของพ็อพเพอร์และอัลธุสแซร์" ใน รัฐศาสตร์สาร 20, 2 (2541) 1-55; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, " "ท่อง" ไปในแดนโพสต์โมเดิร์น: ความเหมือน/อัตลักษณ์และความแตกต่างในการเมือง" ใน รัฐศาสตร์สาร 21, 2 (2542) 333-382; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "ชาติพันธุ์วรรณาในความเป็นซับเจคของนักมานุษยวิทยา: จริยธรรม ระหว่างการหาความจริงและการสร้างความจริง" ใน รัฐศาสตร์สาร 24, 3 (2546) 154-189; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "ประวัติศาสตร์และ "สัตสังคม" ของคาร์ล มาร์กซ์ ช่วงต้น บทวิจารณ์อุกฤษฏ์ แพทย์น้อย" ใน วารสารสังคมศาสตร์ 34, 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2546) 55-72; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "องค์รวม/องค์ขาด/องค์อนันต์" ใน วารสารสังคมศาสตร์ 15, 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2547) 63-111;  ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "การแลกเปลี่ยนทางความคิดกับความ "ทัศนะ 'ชุมชน' กับการปกครองชีวญาณ : อำนาจที่ซ่อนเร้นในสาธารณสุขไท" ใน รัฐศาสตร์สาร 27, 1 (2549) 40-53
  8. เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "ประชาธิปไตยไทยหลังสมัยใหม่" ใน จินตนาการสู่ปี 2000 : นวกรรมเชิงกระบวนทัศน์ด้านไทยศึกษา?, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2539); ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "อภัยวิถี: เทววิทยาทางการเมือง ความทรงจำและความหลงลืมของประวัติศาสตร์ไทย" ใน รัฐศาสตร์สาร 22, 1 (2543) 130-183; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "Carl Schmitt: การเผชิญหน้ากับความลักลั่นของสภาวะสมัยใหม่" ใน วารสารสังคมศาสตร์ 32, 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2544) 107-153; ธเนศ วงศ์ยานนาวา "อำนาจอธิปไตยกับสภาวะสมัยใหม่: พื้นที่ลักลั่นและความเป็นตัวตน" ใน รัฐศาสตร์สาร 24, ฉบับพิเศษ (พ.ย.2546) 205-276; ธเนศ วงศ์ยานนาวา,  "Michael Hardt & Antonio Negri ในฐานะ "Return of the Jedis": เมื่อ Empire ถูก Strike Back" ใน วารสารสังคมศาสตร์ 34, 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2546) 112-162; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "รากฐานปรัชญาการเมืองของ Antonio Negri กับ Empire" ใน รัฐศาสตร์สาร 25, 3 (2547) 180-255; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "รัฐเสรีนิยมใหม่ ทรัพยากรมนุษย์และชุมชน." ใน ฟ้าเดียวกัน 2, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2547) 112-124; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "Michel Foucault กับรัฐเสรีนิยมใหม่ : วินัย/วิชา และสภาวะปกติ/สภาวะที่ผิดปกติ" ใน ดำรงวิชาการ 3, 5 (ม.ค. - มิ.ย. 2547) 271-290; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, " "เหลี่ยมมุม" ของตัวต่อเลโก (Lego) : อำนาจท้องถิ่นกับจักรวรรดิ " ใน พระอัจฉริยคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : เอกสารการสัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองศุภวาระ 200 ปี แห่งพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, จันทนี สุวรรณวาสี, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา, 2548); ธเนศ วงศ์ยานนาวา, " ฐานทางความคิดของ "ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ" " ใน วารสารสถาบันพระปกเกล้า 4, 3 (ก.ย.-ธ.ค. 2549) 77-90
  9. เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "ปัญญาชนตะวันตกกับสภาวะสมัยใหม่: ความขัดแย้งและความต้องการ" ใน รัฐศาสตร์สาร 22, 3 (2543) 342-406; ธเนศ วงศ์ยานนาวา,"ประวัติศาสตร์และสหวิทยาการ: ชาตินี้เราคงรักกันไม่ได้" ใน รัฐศาสตร์สาร 24, 2 (2546) 297-334
  10. เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "การจัดระเบียบเพศในศิลปะ: จากภาพนู้ดสู่ภาพระดับ X" ใน รัฐศาสตร์สาร 25, 2 (2547) 204-223; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, " (การร่วม) เพศนอกสถาบันการแต่งงานในฐานะ 'ระเบิด': จากประวัติศาสตร์ 'การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง' ถึง..." ใน รัฐศาสตร์สาร 27, 3 (ก.ย.-ธ.ค.2549) 1-55
  11. เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "ห้องสมุด: โลกที่ไร้เสียง" ใน รัฐศาสตร์สาร 21, 1 (2542) 301-313; ธเนศ วงศ์ยานนาวา,"ประวัติศาสตร์ครอบครัวตะวันตก: ประวัติศาสตร์คนใช้และการใช้คน" ใน รัฐศาสตร์สาร 23, 3 (2545) 1-49; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "สภาวะสมัยใหม่ของวัฒนธรรมการอ่าน : ห้องสมุดกับการเผชิญหน้ากันของ ตา และ หู" ใน วารสารไทยคดีศึกษา 1, 2 (เม.ย.-ก.ย. 2547) 67-92; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "การ "ครอบ", "ครัว" "ไฟ": จากตะวันตกสู่ตะวันออก" ใน จักรวาลวิทยา : บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ธเนศ วงศ์ยานนาวา, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549); ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "วัฎจักรของทฤษฎีและประวัติศาสตร์ของชนชั้นกลาง : จากการปฏิวัติฝรั่งเศสสู่พฤษภาทมิฬ 19 กันยายน" ใน ศึกษา รู้จัก วิพากษ์คนชั้นกลาง : รวมบทความจากการสัมมนาทางวิชาการ,นลินี ตันธุวนิตย์, บรรณาธิการ,นพชัย แดงดีเลิศ, บรรณาธิการต้นฉบับ, (กรุงเทพฯ: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550), pp. 8-59
  12. เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "ความเป็นอนิจจัง ของอาหารจีนชั้นสูงในกรุงเทพ : การเดินทางสู่เส้นทางของอาหารประชาธิปไตย" ใน จุลสารไทยคดีศึกษา 18, 4 (พ.ย. 2545-ม.ค.2546) 42-51 และ ศิลปวัฒนธรรม 24, 4 (ก.พ. 2546) 132-145; ธเนศ วงศ์ยานนาวา " ปรับ 'ลิ้นจีน'ให้เป็น 'ลิ้นไทย' " ใน ข้ามขอบฟ้า : 60 ปี ชิเกฮารุ ทานาเบ, ขวัญชีวัน บัวแดง และ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2550)
  13. เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา, " 'จากประเพณีประดิษฐ์' สู่ความหลากหลายของ 'วัฒนธรรม' อาทิ 'วัฒนธรรมทางสายตา' " ใน รัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ 60 ปี / รัฐศาสตร์สาร 30 ปี, เล่ม 4, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552), pp. 317-391
  14. ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "มนุษย์โรแมนติคกับการบริโภคภาพเสรี" ใน จุลสารไทยคดีศึกษา 13, 3 (ก.พ.-เม.ย. 2540), pp. 10-15
  15. ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "ภาพตัวแทนของตูด" ใน เผยร่าง-พรางกาย: ทดลองมองร่างกายในศาสนา ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และมานุษยวิทยา, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, บรรณาธิการ, (กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2541)
  16. ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ปฏิวัติบริโภค: จากสิ่งของฟุ่มเฟือยมาสู่สิ่งจำเป็น, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2550)
  17. ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ความรัก ความรู้ ความตาย (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2553); ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ม(า)นุษย์โรแมนติค, (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2556)
  18. ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ศิลปะกับสภาวะสมัยใหม่: ความย้อนแย้งและความลักลั่นม (กรุงเทพฯ:สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, 2552); ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม, (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2552); ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 1968: เชิงอรรถการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2552); ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ความสมเหตุสมผลของความชอบธรรม (การครอบงำ), (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554); ธเนศ วงศ์ยานนาวา, Max Weber: วิถืแห่งการบำเพ็ญตบะและอาชีพทางการเมือง, (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2556)
  19. ธนา วงศ์ญาณณาเวช, หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย: ว่าด้วยการขึ้นมาเป็นศิลปะของภาพยนตร์ในสังคมบริโภค, (กรุงเทพฯ: Unfinished Project Publishing, 2551); ธนา วงศ์ญาณณาเวช, ใต้เตียงนักดนตรี เล่ม 1, (กรุงเทพฯ: openbooks, 2554); ธนา วงศ์ญาณณาเวช, ใต้เตียงนักดนตรี เล่ม 2, (กรุงเทพฯ: openbooks, 2555); ธเนศ วงศ์ยานนาวา, เขียนหญิง : อำนาจ โยนี และการเขียนของลึงค์, (กรุงเทพฯ: Unfinished project, 2556)
  20. ธเนศ วงศ์ยานนาวา, เพศ: จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ, [พิมพ์ครั้งที่1: มติชน, 2551], [พิมพ์ครั้งที่2 พร้อมเพิ่มเนื้อหา: สมมติ, 2556]
  21. อย่างไรก็ดีข้อยกเว้นการ “ออกสื่อ” ของธเนศก็มีอยู่บ้างในกรณีของสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสาร a-day weekly, นิตยสาร Way และเว็บมติชนออนไลน์ที่ล้วนเคยลงบทสัมภาษณ์ของธเนศ แต่บทสัมภาษณ์เหล่านี้ก็ดูจะไม่ได้สร้างชื่อเสียงให้ธเนศเพิ่มเติมไปเท่าใดนัก
  22. กลุ่ม Thanes Wongyannawa เป็นกลุ่มเปิดบนเป็นเครือข่ายสังคม Facebook ในตอนแรกกลุ่มนี้คือกลุ่มของมิตรสหายไปจนถึงลูกศิษย์ลูกหาของธเนศที่ไม่มีกิจกรรมใดๆ นัก แต่ตอนปลายปี 2556 ก็เริ่มมีผู้คนเข้าไปถามคำถามต่างๆ กับธเนศ ซึ่งธเนศก็ตอบคำถามอย่างรวดเร็ว จนน่าจะทำให้หลายๆ คนประหลาดใจเพราะธเนศเป็นคนไม่โพสต์ Status ของตนบน Facebook เลยและก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่มิตรสนิทมากนัก คนจึงเข้าไปถามธเนศเรื่อยๆ ด้วยคำถามที่พิสดารพันลึกและมีขอบข่ายกว้างกว่าขอบข่ายงานของธเนศที่กว่ากว้างแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปธเนศก็ “ตอบทุกคำถาม” ที่มีผู้ถาม (ส่วนผู้ถามจะได้คำตอบที่พอใจหรือเปล่าคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เข้าไปชมได้ที่https://www.facebook.com/groups/80370290864/

ที่มา: http://prachatai.com/journal/2014/04/52849